ประวัตินักบุญเปโตร

พิมพ์

นักบุญเปโตร อัครสาวก

ศตวรรษที่ 1

( ฉลองวันที่  29  มิถุนายน)

นักบุญเปโตร (St.Simon Peter) เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงคนหนึ่งของตำบลเบธไซดา ใกล้ทะเลสาบทิเบเรียสบิดาชื่อยอห์น หรือโยนา มีอาชีพเป็นชาวประมง แต่ต่อมาได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอร์นาอุม (มก 1:21,29) นักบุญอันดรูว์น้องชายของท่านได้เป็นคนแนะนำมาให้ติดตามพระเยซูเจ้า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” เมื่อพบกับพระเยซูเจ้าแล้วพระองค์ทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า ‘เคฟาส’ แปลว่า ‘เปโตร’ หรือ ‘ศิลา’” (ยน 1:42)และคราวหนึ่งพระเยซูตรัสถามท่านว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” ซีมอน เปโตรได้ทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะมิใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วยทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย...” (มธ 16:19) ลักษณะนิสัยของเปโตรเป็นคนค่อนข้างมุทะลุแตก็จริงใจ และจะเห็นได้ว่าบทบาทของท่านนักบุญเปโตรนั้นเด่นกว่าใครๆ จนพระเยซูเจ้าเองก็วางพระทัย เพราะลักษณะนิสัยที่แม้จะมุทะลุแต่ก็ซื่อสัตย์และจริงใจ ท่านเป็นผู้ที่พระเยซูเจ้าไว้ใจมากจึงทรงมอบอำนาจให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว ท่านเปโตรเป็นผู้ที่เข้มแข็ง...ท่านถูกจองจำแต่ทูตสวรรค์นำท่านออกไปจากที่คุมขังได้ ท่านเทศน์สอนอย่างกล้าหาญด้วยการนำของพระจิตเจ้า นักบุญเปโตรออกจากกรุงโรมเพราะทางการตามจับตัวท่าน แต่ระหว่างทางท่านได้พบพระเยซูเจ้าดำเนินสวนทางมาจึงทูลถามพระองค์จะเสด็จไปไหน พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า จะไปให้เขาตรึงบนไม้กางเขนอีกครั้งหนึ่ง ทันทีเปโตรเข้าใจว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ต้องการให้ท่านพลีชีพเป็นพยานถึงพระองค์จึงได้เดินย้อนกลับไปที่โรมและต่อมาท่านถูกจับตรึงไม้กางเขนท่านได้บอกเพชฌฆาตว่าตนเองไม่เหมาะสมจะได้รับการตรึงในลักษณะเดียวกับพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นพระอาจารย์จึงขอให้ตรึงท่านโดยเอาศีรษะลง ประมาณปี ค.ศ. 67 ได้มีการขุดหลุมฝังพระศพของท่าน พระศพของอัครสาวกเปโตรได้ถูกฝังบนเนินนี้เอง ซึ่งในเวลาต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่สร้างมหาวิหารนักบุญเปโตรหลังปัจจุบัน อัครสาวกเปโตรได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคริสตชนชาวโรม และยกย่องท่านเป็นพระสังฆราชองค์แรกของโรม